call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436

ประวัติ อองซาน ซูจี

by : Admin Angel_New   update : 3

(Aung San Suu Kyi)



              เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488  ที่ย่างกุ้ง บิดาชื่อนายพลอองซาน (ถูกสังหารในปี 2490 ขณะซูจีมีอายุ 2 ขวบ) มารดาชื่อ ซิ่นจี (Khin Kyi) เป็นลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน พี่ชายคนโตชื่ออองซานอู ไม่ชอบการเมือง อาศัยอยู่ในเมืองศานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พี่ชายคนรองชื่อองซานลิน (จมน้ำตายตั้งแต่อายุ 8 ขวบ) ในปี 2503 นางติดตามมารดาไปอยู่อินเดีย ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตพม่าคนแรกประจำอินเดีย-เนปาล

              นางซูจีจึงได้เข้าเรียนที่ Convert of Jesus School ในกรุงนิวเดลี และจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาที่ Lady Shriram College พ.ศ. 2507-2512 ไปศึกษาต่อที่ St.Hugh’s College ของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด อังกฤษ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ และได้พบกับไมเคิล อริส (Michael Aris) นักศึกษาวิชาอารยธรรมทิเบต

             พ.ศ. 2512-2514  นางเข้าทำงานด้านการเงินที่องค์การสหประชาชาตินิวยอร์ก (ชื่นชอบมาร์ติน ลูเธอร์คิง) เป็นเวลา 3 ปี ในช่วงที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติคือ นายอูถั่น ชาวพม่า


             พ.ศ.2515 แต่งงานกับ ดร.ไมเคิล อริส ไปอยู่ในภูฏานช่วงหนึ่ง ก่อนย้ายมาอยู่ลอนดอน มีบุตรชาย 2 คนคืออเล็กซานเดอร์กับคิม และได้เขียนหนังสือชีวประวัติของบิดาของนายพลอองซาน นางได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และจบปริญญาเอกจาก University of London ในปี 2528 เคยเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเกียวโต ญี่ปุ่น (ซูจีแต่งกายแบบสตรีพม่าเสมอ)

            พ.ศ. 2529 นางซูจีเดินทางกลับมาพม่าเพื่อเยี่ยมมารดาที่ป่วยอยู่ โดยพาลูกชายทั้ง 2 คนมาด้วย และได้บวชเป็นสามเณรในพม่าทั้งคู่ (เขียนหนังสือประวัติของพ่อและสหาย 30 คนในปี 2525)

             8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่เรียกกันว่า “จลาจล8888”  ประชาชนพม่าประท้วงรัฐบาลทหารของนายพลซอหม่อง จนถูกปราบปรามอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิต ถูกจับและหนีออกนอกประเทศหลายหมื่นคน นางซูจีเป็นหนึ่งในผู้นำครั้งนี้ด้วย

            26 สิงหาคม พ.ศ. 2531  ขึ้นปราศรัยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกใกล้เจดีย์ชเวดากอง

           18 กันยายน พ.ศ. 2531 นายพลซอหม่องได้ก่อตั้งคณะทหารสลอร์ค ออกกฎหมายห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 4 คน

           24 กันยายน พ.ศ. 2531 ได้ร่วมกันตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) หรือ พรรค NLD โดยนางเป็นเลขาธิการของพรรค และช่วงเดินตุลาคม-ธันวาคม นางและสมาชิกพรรคได้เดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อชี้แจงนโยบายพรรค

           2 มกราคม พ.ศ. 2532  ประกาศในงานพิธีศพมารดาของนางใจความว่า “บิดา-มารดาของนางได้รับใช้ชาวพม่ามาแล้ว นางก็จะปฏิบัติตามบุพการีรับใช้ชาวพม่าต่อไป แม้จะทำให้ต้องเดินทางไปสู่ความตายก็ตาม นางต้องการต่อสู้แบบอหิงสา(สันติวิธี) ตามท่านมหาตมะคาธี”

          15 เมษายน พ.ศ. 2532 ถูกทหารล้อมกรอบและเล็งปืนเข้าใส่ระหว่างการหาเสียงที่มณฑลอิรวดี

          20 กรกฏาคม พ.ศ. 2532 ถูกสั่งจับด้วยข้อหาผิดกฎอัยการและถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักของนาง ที่ถนนยูนิเวอร์ซิตี้ ริมทะเลสาบอินยา ห้ามพบปะติดต่อกับผู้ใด

         10 ธันวาคม พ.ศ. 2534 บุตรชายทั้งสองของนางเป็นตัวแทนรับรางวัลดนเบลสาขาสันติภาพที่กรุงออสโล นอร์เวย์ ต่อมานานซูจีได้นำเงิน 1 ล้าน 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ จากรางวัลโนเบล จัดตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษาของชาวพม่า

         10 กรกฏาคม พ.ศ. 2538 ได้รับการปล่อยตัวจากการกักบริเวณ หลังถูกกักเป็นเวลา 6 ปี

          พ.ศ. 2539 ระหว่างการเดินทางไปปราศรัยในย่างกุ้ง  นางถูกชายฉรรจ์ 200 กว่าคนพร้อมอาวุธเข้าล้อมรถ แต่ก็รอดพ้นมาได้ จึงทำให้รัฐบาลทหารสั่งกักบริเวณอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อความปลอดภัยของนางซูจีเอง

          พ.ศ. 2540 ดร.ไมเคิล อริสเป็นมะเร็ง รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เลขาธิการสหประชาติและสันตะปาปาของหรัฐบาลออกวีซ่าให้เขาเดินทางมาพบนางซูจี แต่รัฐบาลปฏิเสธ และแนะนำให้นางซูจีเดินทางไปอังกฤษแทน นางปฏิเสธ เพราะรู้ดีว่าถ้านางเดินทางไปจะไม่สามารถกลับเข้ามาพม่าได้อีก ถือเป็นการตัดสินใจที่เสียสละใหญ่มาก เป็นที่ยอมรับจนขนานนามกันว่า “หญิงเหล็ก” ปราศรัยเก่ง สำนวนคมคาย

           27 มีนาคม พ.ศ. 2542 ดร.ไมเคิล อิสเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง อายุ 53 ปี นางซูจีไม่ได้ไปร่วมงานศพ (เพราะจะกลับเข้าพม่าอีกไม่ได้)
           พ.ศ.2543-2553 ถูกกับริเวณในบ้านและปล่อยตัวชั่วคราวอยู่หลายครั้ง

            13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 นางได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพ บุตรชายชื่อคิมได้รับวีซ่าและเดินทางมาพบแม่เป็นครั้งแรก
            19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 นายพลเต็งเส่งประธานาธิบดีคนใหม่และเป็นคนแรกหลังจากมีการยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนางซูจีให้เข้าพบ
             1 เมษายน พ.ศ. 2555 ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตำแหน่งที่ว่าง พรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีได้รับเลือกมากถึง 43 ที่นั่งจาก 45 ที่นั่ง
             1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 นางซูจีเดินทางไปสาบานตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นครั้งแรก
            29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555  เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก โดยเลือกมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมอีโคโนมิกฟอรั่มที่กรุงเทพฯซึ่งผู้เขียนบทความนี้คือ คุณจิระรัสมิ์ มนตรีมนัส (ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์) ได้มีโอกาสพิเศษสุด ภาคภูมิใจมาก คือได้เป็นผู้นำบรรยายชมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้นางซูจีและผู้นำอาเซียนในช่วงการเดินทางไปร่วมรับประทานอาหารค่ำที่ราชนาวิกสโมสร ซึ่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ

 
          18 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เดินทางไปอังกฤษตามคำเชิญ และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาอังกฤษด้วย จากนั้นเดินทางไปทางยังนอร์เวย์ เพื่อเข้าพบ คณะกรรมการรางวัลโนเบล
           15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ประกาศตัวพร้อมรับตำแหน่งประธานาธิบดี ที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 หลังจากเข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปีของสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นางพลเต็งเส่งยอมรับได้ แต่รัฐธรมนูญของพม่าระบุว่า บุคคลที่แต่งงานกับชาวต่างชาติไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งสำคัญระดับประเทศได้
            30 มกราคม พ.ศ. 2556 นางซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและ สส.พม่า แสดงความมั่นใจว่ากองทัพพม่าจะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ อันจะทำให้นางมีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีในอนาคต
            11 มิถุนายน พ.ศ. 2556 กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิคส์ ฟอรั่ม (WEF) เอเชียตะวันออก ที่กรุงเนปิดอว์  เมืองหลวงของพม่าความว่า เธอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาขัดขวางเส้นทางการเป็นผู้นำประเทศของเธอคือ ห้ามบุคคลที่มีคู่สมรสหรือบัตรเป็นชาวต่างชาติลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการยากมากก ต้องได้รับเสียบสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภามากกว่า 75% และนางขอเรียกร้องต่อชาวพม่าทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ากว่าในปัจจุบัน
             27 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ประธานาธิบดีเต็งเส่งประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ บทมาตราที่กีดดันนางซูจีเป็นผู้นำประเทศ บทสรุปจะส่งให้รัฐสภาพิจารณาภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ตำแหน่งประธานาธิบดีของเมียนมาร์มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปในรัฐสภาสมาชิกรัฐสภาจะโหวตเลือกตั้งประธานาธืบดีอีกที ซึ่งจะทำให้นางพบอุปสรรคยิ่งใหญ่ เพราะมีโควตาของกองทัพ แต่งตั้งมาเป็น ส.ส. และส.ว. ถึง 25% ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภา ซึ่งมีทั้งหมด 664 ที่นั่น เป็นวุฒิสภา 224 ที่นั่ง (แต่งตั้งจากกองทัพ 56 ที่นั่ง เป็นสภาผู้แทนราษฏร 440 ที่นั่ง (แต่งตั้งจากกองทัพ 110 ที่นั่ง) รวมทั้ง 2 สภามี 166 คน (25% ของทั้งหมด)
             การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพม่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 75%ขึ้นไป ผู้ที่ประกาศตัวลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคือ นายพลฉ่วยมาน ประธานสภาผู้แทนราษฏรคนปัจจุบันและหัวหน้าพรคยูเอสดีพี เขาได้กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งปี 2558 มีความเป็นไปได้ว่า เมียนมาร์ จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลผสม โดยจะดึงเอาฝ่ายค้านเข้ามาร่วมบริหารประเทศด้วย
             ถ้าเป็นไปตามที่ฉ่วยมาน พูด นางอองซาน ซูจีคงจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2563 ทั้งนางซูจีและฉ่วยมานหรือเต็งเส่งคงจะวางมือกันหมด เพราะวัยสังขารจะมีอายุ 75 ปีแล้ว

            29 ตุลาคม 2556  ได้เข้าเฝ้าสันตะปาปาที่รัฐวาติกัน  (ในห้องสมุดส่วนพระองค์) ได้เข้าพบประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีอิตาลี นางซูจีได้รับเกียรติให้เป็นพลเมืองกิตติมาศักดิ์ของอิตาลีจากผู้ว่าการกรุงโรม
            ปี 2536 มีการลงนามสัญญาสงบศึก  ยุติสงครามที่ยึดเยื้อมา 30 ปี ในตอนเหนือของพม่า กับพวกจีนฮ่อและองค์การเอกราชกะฉิ่น (Kachin Independence Organization-KIO) และยังมีข้อตกลงกับกลุ่มอื่นๆ อีก 14 กลุ่มตามมาอีกด้วย จนถึงปี 2538 มีเพียงกองกำลังของขุนส่าและกระเหรี่ยงเคเอ็นยูที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาสงบศึก ขณะเดียวกัน กลุ่มก่อการร้ายส่วนใหญ่กลายมาเป็นกลุ่มที่ถูกต้องตามกฏหมาย
            ชาติตะวันตกต่างๆ มีการคว่ำบาตรพม่า และพม่าถูกกีดกันจากการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารโลก และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) แต่รัฐบาลพม่าก็ดึงดูดให้ประเทศในอาเซียน จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เข้ามาลงทุนทำให้อัตราการเจริญผลผลิตภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 6.5% แม้ว่ารายได้ต่อหัวของประชากรจะยังคงเป็น 235 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 10,500 บาทต่อปี) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก เท่ากับครึ่งหนึ่งของอินเดียเท่านั้น
จากนั้นได้มีการขยายวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว จากเดิม 24 ชั่วโมงเป็น 1 เดือน และมีการออกธนบัตรใหม่ FEC (ธนบัตรที่ใช้ได้เฉพาะนักท่องเที่ยว) ซึ่งมีค่าเท่ากับอัตราของตลาดมืด แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังกดดันพม่าให้มีรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันพม่าได้จัดตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติของสหภาพพม่าและเป็นตัวแทนของประเทศอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย โดยตั้งสำนักงานพลัดถิ่นของตนขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
            เมื่อนางอองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกจำกัดบริเวณในบ้านของเธอ (เป็นเวลานานถึง 6 ปี) ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ถึง 10 กรกฎาคม 2538 นางได้ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกแก่หนังสือพิมพ์ ถึงความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อหาข้อแก้ไขอย่างสันติในการ่างรัฐธรรมนูญถ้าหากปัญหาเกิดพบทางตัน

            ต่อมาพม่าได้รับเชิญเป็นทางการให้เข้าประชุมประจำปีของอาเซียน (ASEAN) ที่บรูไน ที่นั่นเอง พม่าได้ลงนามในสนธิสัญญาความเป็นมิตรและความร่วมมือ ทำให้พม่าได้รับสถานภาพเป็นผู้สังเกตการณ์โดยอัตโนมัติของกลุ่มอาเซียน และมีนโยบายเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เป็นการสนับสนุนความตั้งใจของรัฐบาลปัจจุบันที่จะให้มีการปฏิรูปที่เป็นอย่างช้าๆ แต่สันติ ดังคำกล่าวของนายพลขิ่นยุ้นต์ (Khin Nyunt) เลขาธิการของสภาลอร์คว่า “ในทันที่ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าจะส่งคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว”
             มาถึงปี 2540 พม่าก็ได้เข้าเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสมาคมอาเซียน (ASEAN) และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบวินัยแห่งรัฐสภาสลอร์ค (State Law and Order Restoration Conuncil-SLORC) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Concil-SPDC)

             7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 คณะรัฐบาลทหารพม่า หรือฮุนตา จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งแรกในรอบ 20 ปี พรรคการเมืองที่กองทัพหนุนหลัง ชื่อว่า “สหภาพสามัคคีและการพัฒนา” (USDP) เป็นผู้ชนะครองเสียงข้างมากในสภาได้ 259 ที่นั่ง ท่ามกลางข้อครหาว่าจัดฉากและไม่โปร่งใส
            13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 นางอองซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวการถูกกักบริเวณในบ้านพักนาน 7 ปีครึ่ง หลังจากถูกกักบริเวณครั้งล่าสุดเริ่มในปี 2546 หลังจากที่นางได้ประณามอันธพาลที่สนับสนุนรัฐบาลได้จีมตีขบวนรถของเธอ และถูกกักบริเวณเพิ่มอีกในปี 2552 เมื่อนางให้ที่พักพิงชายชาวอเมริกันผู้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปพบนางที่บ้านพักโดยไม่ได้รับเชิญ รวมแล้วนางถูกกักบริเวณเป็นเวลาถึง 21 ปี
             30 มีนาคม 2554 พลเอกอาวุโสตานฉ่วย อดีตประธาน SPDC และผู้กุมอำนาจสูงสุดบนเวทีของการเมืองพม่า ออกประกาศยุติบทบาทของ SPDC แต่ยังมีอิทธิพลกุมบังเหียนในการปกครองในประเทศ ทั้งเต็งเส่งถิ่นมินต์อู และตูระฉ่วยมาน ต่างก็เป็นอดีตนายทหารผู้ใกล้ชิดพลเอกตานฉ่วย รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พลเอกมินอ่องหล่าย ก็เป็นผู้ใกล้ชิดแนบแน่นกับพลเอกตานฉ่วยและพลเอกอาวุโสหม่องเอ รัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุดประเทศสภาวะฉุกเฉินและยึดอำนาจจากรัฐบาลในยามบ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะล่อแหลมต่ออธิปไตยและความมั่นคงของชาติ
            นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจชั้นนำคอยให้การสนับสนุน อาทิ มหาเศรษฐีเทย์ซา (ลูกเขยนายพลตานฉ่วย) เจ้าของบริษัทเครือ Htoo Treding Company ผู้มีบทบาทในการสั่งซื้ออาวุธให้กับกองทัพพม่า และมหาเศรษฐีขิ่นฉ่วย เจ้าของบริษัทประมูลที่ดินรายใหญ่และทรงอิทธิพลต่อสื่อต่างชาติ ในการเสริมภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์

Cr. บทความจากคุณจิระรัสมิ์ มนตรีมนัส (ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์) จากหนังสือ “มิงกะลาบา เมียนมาร์”

ดูเพิ่มเติม
โปรแกรมทัวร์ที่เกี่ยวข้อง
เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 08.30-17.30 น. เสาร์ 8.30-12.00 น.
ที่อยู่ : 18 ซ.บุญศิริ2(สขุมวิท27) ถ.สุขุมวิท ต.ปากน้ำ อ.เมือง
จ.สมุทรปราการ 10270
ใบอนุญาตินำเที่ยวเลขที่ 11/06399
DBD
เว็ปไซต์ในเครือของ Angel Star Travel
X
line @ facebook
Copyright © 2019 wowwtour.com | All Rights Reserved. | Powered by applezeed.com